วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

จอดรถกีดขวางทางมีสิทธิติดคุก

จอดรถกีดขวางทางคนอื่น  มีสิทธิติดคุก

การจอดรถขวางประตูบ้านของผู้อื่น หรือแม้แต่การจอดขวางทางคนอื่นในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า  ซึ่งถือว่า เป็นที่สาธารณะสถาน ถือว่า เป็นการกระทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ เพราะไม่สามารถนำรถเข้าหรือออกจากบ้าน  หรือออกจากลานจอดไม่ได้

 ข้ออ้างว่าถนนหน้าบ้านเป็นที่สาธารณะ หรือ เจ้าของบ้านไม่ควรใช้รถเมื่อเขาจอดรถบนถนนหน้าบ้าน ใช้อ้างไม่ได้และไร้สาระ เนื่องจากเจ้าของรถใช้สิทธิไปก่อความเดือดร้อนของผู้อื่นทั้งที่รู้แก่ใจถึงความเสียหายนั้นเยี่ยงวิญญูชนพึงรู้กัน จึงถือว่า กระทำความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญใจตามมาตรา 397 หมวดลหุโทษ

ทั้งนี้ เมื่อเป็นความผิดกฎหมายอาญาแล้ว ตำรวจจะปัดไม่รับแจ้งความร้องทุกข์ไม่ได้ ถ้าปฏิเสธ อาจมีโทษฐานละเว้นหน้าที่โดยทุจริต เพราะความผิดฐานนี้ไม่จำเป็นต้องมีความเสียหายเกิดขึ้น แค่เกิดพฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญใจ ก็เป็นความผิดอาญาฐานนี้แล้ว



คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1908/2518

นายปรีชา ธนศิลป์             โจทก์
ร้อยตำรวจโทสุทธี กันตะเพ็ง ที่ 1 นางสุนีย์ กันตะเพ็ง ที่ 2             จำเลย

ป.อ. มาตรา 1(3), 310, 397

           จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุ เป็นเพียงขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น ส่วนตัวโจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยได้ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 แต่เป็นการรังแกข่มเหงทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญแม้ซอยนั้นจะอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้าน แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397



           โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์จอดขวางถนนซอยเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์ออกไปจากซอยได้ เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ให้ปราศจากเสรีภายในร่างกาย และเป็นการรังแกข่มเหงและก่อความเดือดร้อนรำคาญต่อโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 397 และ 83
           ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง มีคำสั่งประทับฟ้อง
          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ให้จำคุกจำเลยคนละ 15 วัน และปรับคนละ 500 บาท โทษจำคุกให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          โจทก์และจำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุนั้น โจทก์ไม่ได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกายแต่อย่างใด โจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยนั้นได้ จำเลยเพียงแต่ขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ดังโจทก์ฎีกา
          ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยไม่ทราบว่าโจทก์จะถอยรถออกไปจำเลยมิได้มีเจตนาจะปิดกั้นไม่ให้โจทก์เอารถออก ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ยอมถอยรถให้โจทก์ออกเป็นการรังแกข่มเหงโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ แม้ซอยนั้นจะเป็นซอยในที่ดินของนางสวรรค์ สุวรรณเนตร ซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้านอยู่อาศัย แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในที่ดินในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397
           พิพากษายืน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรา ๓๙๗  #ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการ กระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำ นัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปใน ทางที่จะล่วงเกินทางเพศต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นการ กระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชานายจ้างหรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น