วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ข้อคิดสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านแล้วไม่ได้เข้าอยู่


ผลของการตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร

          เมื่อตั้งนิติบุคคลฯ ดังกล่าวสำเร็จแล้ว ผู้ซื้อที่ดินในโครงการนั้น จะต้องเป็นสมาชิกนิติบุคคลทุกคน แม้จะเป็นผู้ที่ลงมติไม่เห็นชอบให้ตั้ง ตั้งแต่แรกก็ตาม ส่วนผู้จัดสรรหรือผู้ประกอบการเองก็ต้องเป็นสมาชิก สำหรับที่ดินแปลงที่ยังจำหน่ายไม่ได้ สมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคแก่นิติบุคคลฯตามจำนวนหรืออัตราที่กำหนดโดยที่ประชุมใหญ่ หากไม่จ่ายอาจถูกระงับการใช้สาธารณูปโภค เสียค่าปรับ หรือ หากค้างชำระหกเดือนติดต่อกัน นิติบุคคลสามารถแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินให้ระงับการโอนที่ดินแปลงที่ค้างชำระได้ นอกจากนี้ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ นิติบุคคลสามารถฟ้องคดีแพ่งเรียกให้ผู้ค้างชำระได้ด้วย
         ข้อคิด สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านไว้เพื่อขายต่อหรือยังไม่ได้เข้ามาอยู่อาศัยโดยไม่มีผู้คนอยู่อาศัยนานๆ ก็ต้องระวังปลวก หรือคนร้ายงัดแงะบ้านโดยที่ไม่ทราบได้เพราะไม่มีผู้ดูแลภายในบ้าน  และอาจจะดูรกรุงรังไปด้วย วัชพืช  เพราะฉนั้นเจ้าของบ้านควรเข้ามาดูแลเป็นระยะๆ
      โดยทั่วไปจะมีกฎระเบียบห้ามใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างอื่นนอกจากอยู่อาศัยและมีนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรดูแลสาธารณูปโภคอยู่ ท่านต้องเป็นสมาชิกโดยผลของกฎหมายและต้องจ่ายค่าสาธารณูปโภคทุกเดือนตามอัตราที่กำหนด โดยท่านไม่ได้อยู่อาศัยเป็นเวลานานหลายปี หากไม่ชำระต้องเสียค่าปรับหรืออาจถูกฟ้องร้องในที่สุดก็ได้

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หมู่บ้านของเรากำลังจะเข้าถึงจุดนี้หรือไม่?


นำมาให้อ่านเป็นตัวอย่างกรณีศึกษา ว่าปัญหาที่เกิดกับที่อื่นๆนั้นเป็นอย่างไร จะดำเนินเข้าไปสู่จุดนี้หรือไม่
เรื่อง "เถียงไม่จบ ค่าซ่อมสาธารณูปโภค ใครควรจ่าย"
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกโครงการกับการที่ บริษัทผู้พัฒนาโครงการ จะต้องส่งมอบสาธารณูปโภคต่างๆ พื้นที่ส่วนกลางเข้าสู่นิติบุคคลที่มีลูกบ้านเป็นผู้ดูแล คือ ลูกบ้านไม่รับโอน เนื่องจากไม่พอใจในสาธารณูปโภคที่ไม่คงเดิม ถนนแตกร้าว ระบบท่อน้ำ และอื่นๆ เริ่มมีปัญหา บางโครงการทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นเรื่องราวใหญ่โต ว่า เจ้าของโครงการไม่โอนสาธารณูปโภคให้เสียที เนื่องจากยังขายโครงการไม่เสร็จ ต้องการใช้สาธารณูปโภคเพื่อสร้างบ้านในโซนอื่นๆ ทำให้ลูกค้าไม่พอใจ จนเมื่อถึงเวลาที่เจ้าของโครงการพร้อมโอน ลูกค้าก็ไม่พร้อมรับเสียแล้ว

บางโครงการลูกบ้านกับเจ้าโครงการเจรจากันไม่เข้าใจว่า แท้จริงแล้ว ใครควรเป็นคนออกค่าใช้จ่ายซ่อมสาธารณูปโภคก่อนส่งมอบ โดยในกรณีที่บริษัทยังขายบ้านในโครงการนั้นไม่หมด และยังสร้างบางส่วนไม่เสร็จ ก็อาศัยสาธารณูปโภคของโครงการในการก่อสร้างและขาย ลูกบ้านจึงมองว่าควรเอาเงินของบริษัทมาใช้จ่ายซ่อมบำรุงสาธารณูปโภค ไม่ใช่เอาเงินกองทุนส่วนกลางมาใช้ เพราะเจ้าของโครงการนำสาธารณูปโภคไปใช้หาประโยชน์ส่วนของบริษัท

ส่วนทางโครงการก็ให้เหตุผลว่า ลูกบ้านเองก็ได้ใช้สาธารณูปโภคส่วนกลาง และเมื่อเกิดการใช้งานย่อมเสื่อมสภาพตามเวลา ซึ่งเหตุผลนี้ ลูกบ้านก็จะโต้กลับทันทีว่า สาธารณูปโภคไม่น่าจะเสียหายในเวลาอันรวดเร็ว แม้จะมีการใช้งาน แต่เพราะพื้นที่ในโครงการที่ยังมีงานก่อสร้าง มีรถขนาดใหญ่ในส่วนของงานก่อสร้างที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น ถนนแตกร้าว ไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว จึงมองว่าเป็นเพราะรถจากงานก่อสร้างของโครงการมากกว่าที่ทำให้เสื่อมสภาพ ไม่ใช่การใช้งานปกติของผู้อยู่อาศัย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ลูกบ้านจึงเห็นว่า เจ้าของโครงการจึงมีหน้าที่ต้องออกค่าซ่อมสาธารณูปโภคเสียเอง ซึ่งบางโครงการที่ไม่ยอมก็ต้องเจรจากันอย่างยืดเยื้อ ไม่จบสิ้น ในที่สุด ต้องหา คนกลางบริษัทบริหารทรัพย์สินเข้ามาช่วยเจรจา หาทางออกที่ตกลงร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย เพื่อ จบปัญหาที่เรื้อรังมานาน

แต่จบปัญหาจากหมู่บ้านนี้ ก็เกิดปัญหาในแบบเดียวกันกับหมู่บ้านอื่นต่อ ปัญหาแบบเดียวกัน ไม่ผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะโครงการใหญ่ระดับไหน ก็มีปัญหาไม่แตกต่างกัน

สำหรับผู้ซื้อบ้านในวันนี้ เรื่อง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ควรรู้

หลากหลายปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรที่ควรรู้...
"นำมาให้สมาชิกอ่านเพราะเห็นว่าเกี่ยวข้องโดยตรง. และผู้เขียนขอแทรกบางส่วนเพื่อให้ทราบว่าแนวทางแก้ไขยังมีอยู่(ถ้า)...... ......ไม่ใช่จะเลวร้ายไปหมดทุกอย่าง"

หลากหลายปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรยังคงค้างคา และดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะหาทางออกร่วมกันได้ แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวจากในยุคเก่าก่อนด้วยการใช้ กฎหมายมาเป็นเครื่องมือ แต่เมื่อมีการกำหนดอยู่ใน พระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543
(พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน) ให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยเป็นผู้ดูแลสาธารณูปโภคและพื้นที่ส่วนกลางภายในโครงการ ก็มีปัญหารูปแบบใหม่เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย

สำหรับผู้ซื้อบ้านในวันนี้ เรื่อง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ควรรู้ และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อปรับใช้ในการอยู่อาศัยร่วมกันภายในโครงการ

เริ่มจากมุมมองของนักพัฒนาที่ดิน

นายอธิป พีชานนท์ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)  และในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวให้ความคิดเห็นว่า” ปัญหาของนิติบุคคลอาคารชุดที่ว่าเยอะแล้ว นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เยอะกว่า และมีความเป็นไปได้ยากในเชิงการปฏิบัติ แต่ถ้าถามว่า หากทำได้จริง เป็นเรื่องที่ดีไหม แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดี

ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรร เปรียบเหมือนผู้อยู่ในชุมชนเดียวกัน ต้องดูแลตัวเองได้ ต้องอยู่ร่วมกันได้ และเงินทุนในการดูแลส่วนกลาง หรือเงินค่าส่วนกลางที่ผู้อยู่อาศัยทุกคนต้องร่วมกันจ่ายก็ต้องเป็นกองทุนที่สามารถดูแล บริหารจัดการสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในโครงการได้

ที่ผ่านมาอาจมีผู้ประกอบการหลายรายที่ดูแลจัดการสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ไม่ดีนัก มีการใช้จ่ายเงินกองทุนค่าส่วนกลางที่ไม่อย่างมิชอบ และปัญหาอีกหลายประการที่ผลักดันให้ต้องดึง กฎหมายมาบังคับใช้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้อยู่อาศัย หรือ การให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการจัดตั้งนิติบุคคล เพื่อดูแลกันเอง

ในมุมของผู้ออกกฎหมายนั้น แน่นอนว่า ต้องมีเจตนาที่ดี ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้อยู่อาศัยในโครงการจัดสรร ไม่ต้องการให้เจ้าของโครงการเอารัดเอาเปรียบ แต่เชิงการปฏิบัติแล้ว เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ง่ายเลย

ตั้งแต่เริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายให้มีการส่งมอบสาธารณูปโภค และให้ลูกบ้านจัดตั้งนิติบุคคล สัดส่วนที่ไปไม่รอดมีมากกว่าที่ทำแล้วไปรอดหลายเท่านายอธิป กล่าว
 
ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่พร้อมของผู้ซื้อ การหาตัวแทนของผู้อยู่อาศัยเข้าไปทำหน้าที่จัดตั้งนิติบุคคล บริหารจัดการงานในฐานะเป็นนิติบุคคล การพิจารณาเบิกจ่ายเงินต่างๆ ที่เหมาะสม ซึ่งคำว่า เหมาะสมของแต่ละบุคคลก็ไม่เท่ากัน

ประเด็นเรื่องความเหมาะสมที่ไม่เท่ากันนั้น แหล่งข่าวจากวงการที่ปรึกษาด้านบริหารทรัพย์สิน เล่าให้ฟังว่า ปัญหาที่เกิดภายหลังการจัดตั้งนิติบุคคล และลูกบ้านรับหน้าที่ดูแลกันเองนั้น ล้วนมีแต่ปัญหาที่ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การใช้จ่ายเงินกองทุนส่วนกลาง ซึ่งมีทั้ง ใช้มากเกินไป และประหยัดเกินไป เพราะเกรงว่าจะถูกตรวจสอบ  ......ขอแทรก (นิติบุคคลหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่ ของเราไม่กลัวการตรวจสอบ เนื่องจากจะทำงานอย่างสุจริตโปร่งใสและให้มีผู้ตรวจสอบหากมีสมาชิกสงสัย)
           โดยในส่วนของการประหยัดการใช้จ่ายเงินกองทุนส่วนกลางนั้น เห็นได้ชัดจากหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่มีพื้นที่ส่วนกลางที่ต้องดูแล เช่น พื้นที่สวนสวย สโมสรสระว่ายน้ำภายในหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้ หากดูแลไม่ดี ก็จะส่งผลให้โครงการเสื่อมโทรมในที่สุด แต่การดูแลก็ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย
            เมื่อลูกบ้านรับมาบริหารเอง ปัญหาแรก คือ เก็บเงินค่าส่วนกลางไม่ได้ครบทุกบ้าน ปัญหาต่อมา คือ เมื่อเห็นรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เริ่มมองว่า มันสูงเกินไปหรือไม่ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้จ่ายสูงขนาดนี้ บางโครงการ เห็นว่าค่าใช้จ่ายส่วนรักษาความปลอดภัย มีจำนวน รปภ.มากเกินไป ก็ตัดงบส่วนนี้ออกเหลือยามในสัดส่วนที่น้อยเกินกว่าจำนวนบ้าน เกิดปัญหาขโมยเข้ามาขโมยทรัพย์สิน ( ขอแทรก..........มีตัวอย่างบางโครงการถึงแม้จะมี รปภ.จำนวนมากก็ยังมีการโจรกรรมอยู่เนือง ๆ จึงน่าจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีนัก)
    ไฟฟ้าแสงสว่างภายในโครงการที่ เห็นว่ามีมากเกินไป ก็กลัวเปลือง ก็สั่งปิด ทำให้มีจุดอับ จุดบอดของแสง ก่อให้เกิดอันตรายภายในโครงการ ส่วนบริเวณสวน พื้นที่สนามหญ้า ที่เคยเป็นจุดขายสำคัญของโครงการ เมื่อลูกบ้านต้องดูแล และเห็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงลิบก็เริ่มลด เมื่อไม่มีการดูแลจัดการที่ดี ในที่สุด สวนสวยก็กลายเป็นสวนร้าง หมดความสวยงาม หมู่บ้านที่เคยน่าอยู่ก็เปลี่ยนแปลงไป
   (ขอออกความคิดเห็นในเชิงขอความร่วมมือ...ผู้เขียน)
    ปัญหาที่กล่าวถึง เป็นปัญหาภายหลังการจัดตั้งนิติบุคคลแล้ว        แต่นิติบุคคลจัดสรร ที่นำมาให้อ่านนี้เกิดจากโครงการอื่นๆที่มีปัญหา เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่าการบริหารนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนั้นเป็นอย่างไร และประเด็นปัญหาต่างๆไม่ควรเกิดขึ้นกับหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่ของเรา  ถ้าสมาชิกทั้ง 216 หลังร่วมแรงร่วมใจกันทุกๆคน  หากมีปัญหาใดๆ ก็ร่วมกันแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  หมู่บ้านของเราก็จะน่าอยู่น่าอาศัยตามที่ทุกๆคนหวัง


แนบท้ายเกี่ยวกับกฎหมาย



การจะจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร นั้น มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันดังนี้


- พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 44,45,46,47, 48,49, 50, 51,52,53 และมาตรา 70
- กฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบ และการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ.2545
- ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ว่าด้วยการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น และการขออนุมัติดำเนินการเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค พ.ศ.2545
- ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค และการจัดทำบัญชี พ.ศ.2545
- ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าปรับกรณีที่ชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด พ.ศ.2546
- ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินจัดสรร พ.ศ.2546
- ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่อง กำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแผนผังโครงการ และวิธีการในการจัดสรรที่ดิน และการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการ ข้อ 4


วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สมาชิกหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่


สมาชิกหมู่บ้าน คือผู้ที่ซื้อบ้านในโครงการฮาบิเทียบางใหญ่  ผู้ที่เข้ามาซื้อส่วนใหญ่เมื่อเข้ามาดูก่อนจะตัดสินใจซื้อ
มีเหตุผลที่พอสรุปได้ว่า รูปลักษณ์ของตัวบ้านทันสมัย  มีภูมิทัศน์สวยงาม จำนวนบ้านไม่มากนัก โครงสร้างบ้านแข็งแรงด้วยระบบ precast กว้างกว่าที่อื่นแม้ว่าขนาดบ้าน แบบ H1จะเล็กสุดแต่ก็ใหญ่กว่าหมู่บ้านอื่นๆ เพราะว่าไม่มีเสามาเบียดบังพื้นที่ภายใน ราคาอยู่ระหว่าง 3 ล้านจนถึงเกือบ 6 ล้านบาท
แล้วแต่จำนวนพื้นที่มากน้อยต่างกันไป แสดงว่าสมาชิกของหมู่บ้านล้วนแต่เป็นผู้มีฐานะทั้งสิ้น   เป็นเครื่องชี้วัดว่าระดับของหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่ อยู่ในระดับกลาง ๆ


ผู้ที่อาสาเข้ามาเป็นกรรมการหมู่บ้าน คือสมาชิกของหมู่บ้านคนหนึ่ง ที่เสียสละเข้ามาช่วยกันดูแลหมู่บ้านให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทุกๆคน ช่วยดูแลช่วยเหลือในการจัดระเบียบการอยู่ร่วมกัน  การรักษาความสะอาดพื้นที่สาธารณะ  การบำรุงรักษาทรัพย์ทั้งส่วนกลางและจัดจ้างพนักงาน รปภ.มาดูแลทรัพย์ของสมาชิกให้ปลอดภัย
      โดยที่กรรมการไม่มีค่าตอบแทนใดๆไม่เหมือนกับ อบต.อบจ.เทศบาล ส.ส. ที่อาสาเข้ามาแต่มีค่าตอบแทนสูงๆ   ถึงแม้ว่าการบริหารงานของหมู่บ้านจะมีการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม  เพื่อให้โปร่งใสในการทำงาน  จึงเปิดโอกาสให้สมาชิกเข้ามาตรวจสอบได้และแต่งตั้งผู้ตรวจสอบการบริหารงานและบัญชี/การเงิน จำนวน 3 คนสำหรับคอยตรวจสอบดังกล่าว
       ทั้งนี้กรรมการไม่ได้บริหารงานแบบคณะเดียวหรือคนใดคนหนึ่ง. คณะกรรมการยังเชิญผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิ ในสาขาต่างๆซึ่งเป็นสมาชิกของหมู่บ้านของเราเอง  เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้วย. และยังมีตัวแทนซอยของแต่ละซอยเพิ่อที่จะได้นำข้อมูลต่างๆไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในซอยให้ทราบโดยทั่วถึงกัน  สำหรับคณะกรรมการในชุดนี้ยังมีผู้มีความรู้ในสาขาต่างๆเช่น วิศวกรด้านโยธา,ไฟฟ้า,ด้านการเงิน/การบัญชี,ด้าน IT,ด้านบริหารธุรกิจ,ด้านกฎหมาย หลายๆคนนอกจากมีงานประจำจนแทบหาเวลาว่างไม่ได้ ก็ยังมีน้ำใจเสียสละเข้ามาช่วยกัน เพื่อหมู่บ้านของเรา
     นอกจากนี้ สมาชิกหมู่บ้านทุกๆคนยังสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องคอยให้มีการประชุมใหญ่ประจำปีแต่อย่างใด  สามารถทำได้โดยผ่านทางเว็บไซด์ของนิติบุคคลหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่  habitiabangyai.in.th ที่หน้ากระดานข่าวหรือ  ทำเป็นหนังสือส่งโดยตรงถึงประธานคณะกรรมการนิติบุคคลฯ หรือจะแจ้งทางโทรศัพท์ในกรณีเร่งด่วน
    ในเวลาที่มีการประชุมคณะกรรมการสมาชิกทุกคนสามารถเข้ามาร่วมรับฟังคณะกรรมการประชุมได้ ทุกครั้ง  เพราะสมาชิกทุกคนมีสิทธิที่จะเข้ามาร่วมกันบริหารชุมชนโดยส่วนรวม ไม่จำกัดสิทธิ์ว่าจะต้องเป็นกรรมการเท่านั้น ที่จะบริหารหมู่บ้านแต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นการเปิดกว้างให้ทุกคน"ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ปัญหา" เพื่อหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่ของเรา....................