วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สำหรับผู้ซื้อบ้านในวันนี้ เรื่อง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ควรรู้

หลากหลายปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรที่ควรรู้...
"นำมาให้สมาชิกอ่านเพราะเห็นว่าเกี่ยวข้องโดยตรง. และผู้เขียนขอแทรกบางส่วนเพื่อให้ทราบว่าแนวทางแก้ไขยังมีอยู่(ถ้า)...... ......ไม่ใช่จะเลวร้ายไปหมดทุกอย่าง"

หลากหลายปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรยังคงค้างคา และดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะหาทางออกร่วมกันได้ แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวจากในยุคเก่าก่อนด้วยการใช้ กฎหมายมาเป็นเครื่องมือ แต่เมื่อมีการกำหนดอยู่ใน พระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543
(พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน) ให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยเป็นผู้ดูแลสาธารณูปโภคและพื้นที่ส่วนกลางภายในโครงการ ก็มีปัญหารูปแบบใหม่เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย

สำหรับผู้ซื้อบ้านในวันนี้ เรื่อง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ควรรู้ และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อปรับใช้ในการอยู่อาศัยร่วมกันภายในโครงการ

เริ่มจากมุมมองของนักพัฒนาที่ดิน

นายอธิป พีชานนท์ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)  และในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวให้ความคิดเห็นว่า” ปัญหาของนิติบุคคลอาคารชุดที่ว่าเยอะแล้ว นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เยอะกว่า และมีความเป็นไปได้ยากในเชิงการปฏิบัติ แต่ถ้าถามว่า หากทำได้จริง เป็นเรื่องที่ดีไหม แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดี

ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรร เปรียบเหมือนผู้อยู่ในชุมชนเดียวกัน ต้องดูแลตัวเองได้ ต้องอยู่ร่วมกันได้ และเงินทุนในการดูแลส่วนกลาง หรือเงินค่าส่วนกลางที่ผู้อยู่อาศัยทุกคนต้องร่วมกันจ่ายก็ต้องเป็นกองทุนที่สามารถดูแล บริหารจัดการสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในโครงการได้

ที่ผ่านมาอาจมีผู้ประกอบการหลายรายที่ดูแลจัดการสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ไม่ดีนัก มีการใช้จ่ายเงินกองทุนค่าส่วนกลางที่ไม่อย่างมิชอบ และปัญหาอีกหลายประการที่ผลักดันให้ต้องดึง กฎหมายมาบังคับใช้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้อยู่อาศัย หรือ การให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการจัดตั้งนิติบุคคล เพื่อดูแลกันเอง

ในมุมของผู้ออกกฎหมายนั้น แน่นอนว่า ต้องมีเจตนาที่ดี ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้อยู่อาศัยในโครงการจัดสรร ไม่ต้องการให้เจ้าของโครงการเอารัดเอาเปรียบ แต่เชิงการปฏิบัติแล้ว เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ง่ายเลย

ตั้งแต่เริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายให้มีการส่งมอบสาธารณูปโภค และให้ลูกบ้านจัดตั้งนิติบุคคล สัดส่วนที่ไปไม่รอดมีมากกว่าที่ทำแล้วไปรอดหลายเท่านายอธิป กล่าว
 
ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่พร้อมของผู้ซื้อ การหาตัวแทนของผู้อยู่อาศัยเข้าไปทำหน้าที่จัดตั้งนิติบุคคล บริหารจัดการงานในฐานะเป็นนิติบุคคล การพิจารณาเบิกจ่ายเงินต่างๆ ที่เหมาะสม ซึ่งคำว่า เหมาะสมของแต่ละบุคคลก็ไม่เท่ากัน

ประเด็นเรื่องความเหมาะสมที่ไม่เท่ากันนั้น แหล่งข่าวจากวงการที่ปรึกษาด้านบริหารทรัพย์สิน เล่าให้ฟังว่า ปัญหาที่เกิดภายหลังการจัดตั้งนิติบุคคล และลูกบ้านรับหน้าที่ดูแลกันเองนั้น ล้วนมีแต่ปัญหาที่ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การใช้จ่ายเงินกองทุนส่วนกลาง ซึ่งมีทั้ง ใช้มากเกินไป และประหยัดเกินไป เพราะเกรงว่าจะถูกตรวจสอบ  ......ขอแทรก (นิติบุคคลหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่ ของเราไม่กลัวการตรวจสอบ เนื่องจากจะทำงานอย่างสุจริตโปร่งใสและให้มีผู้ตรวจสอบหากมีสมาชิกสงสัย)
           โดยในส่วนของการประหยัดการใช้จ่ายเงินกองทุนส่วนกลางนั้น เห็นได้ชัดจากหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่มีพื้นที่ส่วนกลางที่ต้องดูแล เช่น พื้นที่สวนสวย สโมสรสระว่ายน้ำภายในหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้ หากดูแลไม่ดี ก็จะส่งผลให้โครงการเสื่อมโทรมในที่สุด แต่การดูแลก็ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย
            เมื่อลูกบ้านรับมาบริหารเอง ปัญหาแรก คือ เก็บเงินค่าส่วนกลางไม่ได้ครบทุกบ้าน ปัญหาต่อมา คือ เมื่อเห็นรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เริ่มมองว่า มันสูงเกินไปหรือไม่ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้จ่ายสูงขนาดนี้ บางโครงการ เห็นว่าค่าใช้จ่ายส่วนรักษาความปลอดภัย มีจำนวน รปภ.มากเกินไป ก็ตัดงบส่วนนี้ออกเหลือยามในสัดส่วนที่น้อยเกินกว่าจำนวนบ้าน เกิดปัญหาขโมยเข้ามาขโมยทรัพย์สิน ( ขอแทรก..........มีตัวอย่างบางโครงการถึงแม้จะมี รปภ.จำนวนมากก็ยังมีการโจรกรรมอยู่เนือง ๆ จึงน่าจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีนัก)
    ไฟฟ้าแสงสว่างภายในโครงการที่ เห็นว่ามีมากเกินไป ก็กลัวเปลือง ก็สั่งปิด ทำให้มีจุดอับ จุดบอดของแสง ก่อให้เกิดอันตรายภายในโครงการ ส่วนบริเวณสวน พื้นที่สนามหญ้า ที่เคยเป็นจุดขายสำคัญของโครงการ เมื่อลูกบ้านต้องดูแล และเห็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงลิบก็เริ่มลด เมื่อไม่มีการดูแลจัดการที่ดี ในที่สุด สวนสวยก็กลายเป็นสวนร้าง หมดความสวยงาม หมู่บ้านที่เคยน่าอยู่ก็เปลี่ยนแปลงไป
   (ขอออกความคิดเห็นในเชิงขอความร่วมมือ...ผู้เขียน)
    ปัญหาที่กล่าวถึง เป็นปัญหาภายหลังการจัดตั้งนิติบุคคลแล้ว        แต่นิติบุคคลจัดสรร ที่นำมาให้อ่านนี้เกิดจากโครงการอื่นๆที่มีปัญหา เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่าการบริหารนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนั้นเป็นอย่างไร และประเด็นปัญหาต่างๆไม่ควรเกิดขึ้นกับหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่ของเรา  ถ้าสมาชิกทั้ง 216 หลังร่วมแรงร่วมใจกันทุกๆคน  หากมีปัญหาใดๆ ก็ร่วมกันแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  หมู่บ้านของเราก็จะน่าอยู่น่าอาศัยตามที่ทุกๆคนหวัง


แนบท้ายเกี่ยวกับกฎหมาย



การจะจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร นั้น มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันดังนี้


- พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 44,45,46,47, 48,49, 50, 51,52,53 และมาตรา 70
- กฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบ และการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ.2545
- ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ว่าด้วยการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น และการขออนุมัติดำเนินการเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค พ.ศ.2545
- ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค และการจัดทำบัญชี พ.ศ.2545
- ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าปรับกรณีที่ชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด พ.ศ.2546
- ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินจัดสรร พ.ศ.2546
- ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่อง กำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแผนผังโครงการ และวิธีการในการจัดสรรที่ดิน และการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการ ข้อ 4


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น